Custom Search

Saturday, August 8, 2009

ใบความรู้ที่

ใบความรู้ที่ ๒
เรื่อง : คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดสาระการเรียนรู้ พระพุทธศาสนา เนื้อหาสาระในส่วนนี้ประกอบด้วย คำศัพท์ที่ให้ความรู้เพิ่มเติมขยายเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับความหมายตามศัพท์ ความหมายที่เป็นรายละเอียด และประเภทของธรรมเพื่อเสริมความรู้ของครู ให้เข้าใจองค์ประกอบของข้อธรรมละเอียดยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ก็มีแหล่งค้นคว้าอ้างอิง เพื่อให้ครูสามารถใช้ค้นคว้าเพิ่มเติมได้
คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ ข้อ ๑. กตัญญู รู้คุณท่าน ๒. กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ ๒.๑ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว ๒.๒ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดี เกื้อกูลแก่ส่วนร่วม (พ.ศ. หน้า ๒ - ๓)
กตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์/โรงเรียน ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถืออาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวา ดังนี้ ๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ ๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น ๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟัง ให้เกิดปัญญา
๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริง เอาจังถือเป็นกิจสำคัญด้วยดี
กรรม การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจ ประกอบด้วย ความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินไว้ใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่า บ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปก็ไม่พ้นกรรม) การกระทำที่ดี เรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่วเรียกว่า “กรรมชั่ว” (พ.ศ. หน้า ๔)
กรรม ๒ กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุมี ๒ คือ ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือกรรมที่เกิดจากกุศลมูล
กรรม ๓ กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรมมี ๓ คือ ๑. กายกรรม การกระทำทางกาย ๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา ๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ
กรรม ๑๒ กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล มี ๑๒ อย่าง คือ
หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือ เข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจาก
ชนกกรรม ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภก
กรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือ กรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นขาดหรือหยุดไปทีเดียว
หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙. ครุกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมที่ทำมาก หรือกรรมชินให้ผลรองลงมา ๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผล (พ.ศ. หน้า ๕)
คารวธรรม ๖ ธรรมคือความเคารพ การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจังมี ๖ ประการ คือ ๑. สัตถุคารวตา ความเคารพในพระศาสดา หรือพุทธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒. ธัมมคารวตา ความเคารพในพระธรรม
๓. สังฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ ๔. สิกขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา
๕. อัปปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท ๖. ปฏิสันถารคารวตา ความเคารพในการปฏิสันถาร (พ.ธ. หน้า ๒๒๑)
คิหิสุข (กามโภคีสุข ๔) สุขของคฤหัสถ์, สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี ๔ ประการ ๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ ๒. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ (ไม่บกพร่องเสียหายทั้งทางกาย วาจา และใจ) (พ.ธ. หน้า ๑๗๓)
ฆราวาสธรรม ๔ ธรรมสำหรับฆราวาส ธรรมสำหรับการครองเรือน หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ ๔ ประการ ได้แก่ ๑. สัจจะ คือ ความจริง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง ๒. ทมะ คือ การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัด ดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา ๓. ขันติ คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วย ความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย ๔. จาคะ คือ เสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตน หรือเอาแต่ใจตัว (พ.ธ. หน้า ๑๓๕)

0 comments:

Post a Comment

 

©2009 webpicture | by TNB